การแรเงา
วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
เทคนิคการแรเงาน้ำหนัก
เมื่อตรวจแก้ไขข้อบกพร่องของภาพร่างดีแล้ว
และเป็นภาพร่างที่พร้อมจะแรเงาน้ำหนักการกำหนดแสงเงาบนวัตถุในภาพร่างซึ่งมีรูปทรงต่างๆ
นั้น อาจลำดับขั้นตอนของกระบวนการได้ ดังนี้
1. หรี่ตาดูวัตถุที่เป็นหุ่น
กำหนดพื้นที่แบ่งส่วนระหว่างแสงเงาออกจากกันให้ชัดเจนด้วยเส้นร่างเบาๆบนรูปทรงของภาพร่างที่วาดไว้นั้น
โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคร่าวๆ คือ แสงกับเงาเท่านั้น
2. แรเงาน้ำหนักในส่วนพื้นที่ที่เป็นเงาทั้งหมด
ด้วยน้ำหนักเบาที่สุดของเงาที่ตกทอดบนวัตถุ และเว้นพื้นที่ส่วนที่เป็นแสงไว้
3. พิจารณาเปรียบเทียบน้ำหนักที่เบาที่สุดกับน้ำหนักที่เข้มในส่วนขึ้นอีกเท่าใด
แล้วแบ่งน้ำหนักเงาที่อ่อนกับเงาที่เข้มขึ้นด้วยวิธีร่างเส้นแบ่งพื้นที่เบาๆ
เช่นกันกับข้อ 1 จากนี้ก็แรเงาเพิ่มน้ำหนักในส่วนที่เข้มขึ้น
ตลอดเวลาจะต้องเปรียบเทียบน้ำหนักของเงาที่ลงใหม่กับเงาอ่อนและแสงที่เว้นไว้อยู่เสมอเพื่อให้การแรเงาน้ำหนักได้ใกล้เคียงความเป็นจริง
การแรเงาน้ำหนักต้องลงรวมๆ ไปทีละน้ำหนัก จะทำให้คุมน้ำหนักได้ง่าย
4.
การแรเงาน้ำหนักที่เข้มขึ้นจะใช้วิธีการเดียวกับข้อ 1 และข้อ 3
จนครบกระบวนการจะทำให้ได้ภาพที่มีน้ำหนักแสงเงาใกล้เคียงกับความเป็นจริงจากนั้นเกลี่ยน้ำหนักที่แบ่งไว้ในเบื้องต้นให้ประสานกลมกลืนกัน
5. พิจารณาในส่วนของแสงที่เว้นไว้
จะเห็นว่ามีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับในส่วนของเงาต้องใช้ดินสอลงน้ำหนักแผ่วๆ
ในส่วนของแสงที่เว้นไว้ เพื่อให้รายละเอียดของแสงเงามีน้ำหนักที่สมบูรณ์
6. เงาตกทอด ใช้หลักการเดียวกับการแรเงาน้ำหนักบนวัตถุที่กล่าวมาแล้ว
แต่ต้องสังเกตทิศทางของแสงประกอบการเขียนแสงในการวาดเขียนปกติจะใช้ประมาณ 45 องศา
กับพื้น แต่มีข้อสังเกต คือ ถ้าแสงมาจากมุมที่สูง จะเห็นเงาตกทอดสั้น
ถ้าแสงมาจากมุมที่ต่ำลง เงาตกทอดจะยาวขึ้นในส่วนน้ำหนักของเงาตกทอดเองก็จะมีน้ำหนักอ่อนแก่เช่นเดียวกับแสงเงาบนวัตถุคือเงาที่อยู่ใกล้วัตถุจะมีความเข้มกว่าเงาที่ทอดห่างตัววัตถุสาเหตุมาจากแสงสะท้อนรอบๆ
ตัววัตถุที่สะท้อนเข้ามาลบเงาให้จางลง
ลักษณะของแสงเงาที่ใช้ในการวาดเขียน
ลักษณะของแสงเงาที่ใช้ในการวาดเขียนแบ่งออกเป็น
6 ค่า
1. แสงสว่างที่สุด (HIGH LIGHT) เป็นบริเวณที่วัตถุกระทบแสงโดยตรง ทำให้ส่วนนั้นมีน้ำหนักอ่อนที่สุด
ถ้าวัตถุเป็นสีขาวบริเวณนั้นจะปล่อยว่าง ไม่ต้องลงเงาก็ได้
2. แสงสว่าง (LIGHT) เป็นบริเวณที่ไม่ถูกแสงโดยตรง
แต่มีบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากแสง
การลงน้ำหนักบริเวณนี้ต้องให้อ่อนจางแต่แก่กว่าบริเวณแสงสว่างที่สดุดเล็กน้อย
3. แสงสะท้อน (REFLECTED LIGHT) เป็นบริเวณของวัตถุที่ไม่ได้กระทบแสงโดยตรง
หากอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเงาแต่ถูกแสงสะท้อนจากวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ กันมากระทบ
น้ำหนักของบริเวณนี้จะอ่อนกว่าบริเวณที่เป็นเงา
ค่าของแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกในภาพมีมิติ มีมวลสาร มีชีวิตชีวา
ดูเหมือนมีอากาศอยู่รอบๆ
4. เงา (DARK) เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของแสงน้อยมาก
ซึ่งเงาบริเวณนี้จะต้องแรเงาให้มีน้ำหนักเข้มกว่าบริเวณแสงสว่างพอประมาณ
พอที่จะแยกแสงและเงาออกจากกันได้
5. เงามืด (DARKEST) เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงจึงต้องแรเงาด้วยน้ำหนักที่เข้มกว่าบริเวณอื่นๆ
ทั้งหมดของวัตถุ
6. เงาตกทอด (CAST SHADOW) เป็นบริเวณที่เงาของวัตถุนั้นๆ
ทอดไปตามพื้นที่รองรับวัตถุ โดยจะมีน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน
ขนาดและรูปร่างของเงาตกทอดจะขึ้นอยู่กับทิศทางของแสง รูปร่างของวัตถุและพื้น
เทคนิคการแรเงาน้ำหนักที่นิยมใช้กัน
1. ให้แสงเข้าทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นเงา
เป็นวิธีการที่ใช้ในการเขียนภาพเหมือนจริงทั่วไป
2. ให้แสงเข้าตรงหน้า ส่วนที่อยู่ใกล้จะมีน้ำหนักอ่อน
ส่วนที่อยู่ไกลจะมีน้ำหนักแก่ น้ำหนักที่ใช้ในวิธีนี้เรียกว่า จิอารอสคูโร (CHIAROSCURO) เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ความสว่างและความมืด
อันต่างไปจากการให้ปริมาตรของรูปทรงด้วยการให้แสงเงาทั่วไป
3. กำหนดให้แสงขึ้นจากจุดกลางภาพ ส่วนมากจะใช้แสงเทียนหรือแสงไฟฟ้า
4. ให้แสงเกิดขึ้นในจุดที่ต้องการ
ส่วนอื่นให้อยู่ในเงามืด
5. ให้แสงกระจายเลื่อนไหลไปทั่วภาพ เน้นความใกล้
ไกล ลึก ตื้นด้วยบรรยากาศของน้ำหนักจนเกือบไม่คำนึงถึงปริมาตรของรูปทรง
6. ให้น้ำหนักอ่อนทั้งรูปและพื้น
ไม่เน้นปริมาตรของรูปทรง แต่เน้นความสว่างของแสงให้จ้า ไม่มีเงา
7. ให้แสงเต้นระริกกระจายไปทั่วๆ ภาพ
แนวคิดในการแรเงาน้ำหนัก
เรามองเห็นสิ่งต่างๆ
ได้ เพราะอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ หรือต้นแสงจากแหล่งกำเนิดอื่น
เมื่อมีแสงสว่างก็ต้องมีเงาควบอยู่ด้วย
และแสงเงาทำให้เรามองเห็นวัตถุที่ผิวสีเดียวกันมีน้ำหนักแตกต่างกัน เช่น
วัตถุสีขาวส่วนที่ถูกแสงจะเป็นสีขาวสว่างจ้า แต่ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะขาวหม่น
ทั้งที่วัตถุนั้นก็เป็นสีขาวเท่ากันตลอดพื้นผิว
เมื่อธรรมชาติของแสงเงาให้ผลที่มองเห็นเช่นนี้
ผู้เขียนจำต้องเข้าใจการจัดน้ำหนักอ่อนแก่ให้ได้ใกล้เคียงกับน้ำหนักของแสงที่ตกกระทบผิววัตถุ
เพราะความแตกต่างของน้ำหนักทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกันไปได้ เช่น
น้ำหนักสีที่อ่อนให้ความรู้สึกเบา น้ำหนักสีที่แก่ทำให้ดูแล้วรู้สึกหนัก
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดระยะต่างๆ ในการมองเห็น
ตลอดจนความรู้สึกด้านความงามในทางศิลปะ
หน้าที่ของน้ำหนัก ในการวาดเขียน
หน้าที่ของน้ำหนัก
ในการวาดเขียนจำแนกออกได้ ดังนี้
1. ให้ความแตกต่างระหว่างรูปทรงกับพื้นที่
หรือรูปทรงกับที่ว่าง
2. ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวต่อการนำสายตาผู้ดู
บริเวณที่น้ำหนักตัดกันจะดึงดูดความสนใจ
ถ้าตัดกันหลายแห่งจะนำสายตาให้เคลื่อนที่จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง
ทั้งนี้จะเป็นไปตามจังหวะที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั่นเอง
ซึ่งอาจกลมกลืนหรือตัดกันอย่างรุนแรง
3. ให้ความเป็น 2 มิติ หรือ 3 มิติแก่รูปทรง
4. ให้ความรู้สึกในภาพ ด้วยการประสานกันของน้ำหนัก
5. ให้ความลึกแก่ภาพ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)